สภาพทางสังคม

สภาพทางสังคม

ลักษณะสังคมของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ลักษณะสังคม   วัฒนธรรม  ขนบธรรมเนียมประเพณีและค่านิยมของชาวประจวบคีรีขันธ์  มีลักษณะผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมภาคกลางและภาคใต้      เนื่องมาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์  และอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน การประกอบอาชีพ การติดต่อค้าขาย

สังคมของชาวประจวบคีรีขันธ์โดยภาพรวม     เป็นสังคมเกษตรกรรม    และประมง   การดำเนินชีวิต ประเพณี การละเล่น  จึงสัมพันธ์กับอาชีพ  อาทิเช่น  นิยมการทำบุญ  การละเล่นวัวลาน การละเล่นผีพุ่งใต้ พิธีกรรมไหว้แม่ย่านางเรือ

กลุ่มชาติพันธุ์  จำแนกได้ สามกลุ่มคือ
– กลุ่มคนไทย  ประกอบด้วยผู้ที่อยู่อาศัยประจำถิ่นมาแต่โบราณกาล และกลุ่มผู้ที่ย้ายถิ่นมาจากทุกภาคของประเทศ กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ของจังหวัด กลุ่มคนไทยทั้งสองกลุ่มดังกล่าว มีจำนวนมากที่สุดประมาณร้อยละ ๙๙  ของประชากรในจังหวัด
– กลุ่มชนเผ่าไทยทรงดำ หรือที่เรียกว่า ไทยดำ ลาวช่วงดำ หรือลาวโซ่ง  เป็นชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยธนบุรี ตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วไปในภาคกลางของประเทศไทย บรรพบุรุษเดิมของลาวโซ่ง มีถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำดำ แม่น้ำแดง ในบริเวณตั้งแต่มณฑลกวางสี ยูนนาน ตังเกี๋ย และแคว้นสิบสองจุไท โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เมืองแถง  ปัจจุบันคือเดียนเบียนฟู ในประเทศเวียดนาม  ชาวโซ่งได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยหลายครั้ง อันเนื่องมาจากผลของสงคราม
สมัยธนบุรี  กองทัพไทยได้ยกไปตีเมืองลาว ได้กวาดต้อนชาวลาวกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งลาวโซ่ง เข้ามาในประเทศไทย โดยให้ลาวโซ่งไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเพชรบุรี
สมัยรัตนโกสินทร์  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เจ้าเมืองเวียงจันทร์ ซึ่งเป็นเมืองประเทศราชของไทยได้ยกทัพไปตีเมืองแถง และกวาดต้อนพวกลาวพวน และลาวโซ่ง เข้ามากรุงเทพ ฯ เป็นบรรณาการ  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พวกลาวโซ่งไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองเพชร
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ชาวลาวโซ่งได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเนื่องจากสงครามหลายครั้ง พื้นที่เดิมที่เมืองเพชรบุรีอาจไม่เพียงพอ จึงได้มีการไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ใกล้เคียงเข้าไปในเขตจังหวัดประจวบ ฯ
การดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพของลาวโซ่งไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากนัก ส่วนใหญ่ยังยึดอาชีพการเกษตร ทำนา เลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคในครัวเรือน และแลกเปลี่ยนสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต
เครื่องแต่งกายทั้งหญิงและชาย มีลักษณะเด่นคือ การใส่เสื้อผ้าสีดำ หรือสีครามซึ่งทอขึ้นเอง สำหรับเครื่องประดับส่วนใหญ่เป็นเครื่องเงิน เช่น กำไลมือ กำไลเท้า ปิ่นปักผม กระดุมเสื้อ เป็นต้น
เครื่องแต่งกายแบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ ชุดที่ใช้สวมใส่ในโอกาสพิเศษ และชุดที่ใช้ประจำวัน ชุดพิเศษเรียกว่า เสื้อฮี ใช้สวมใส่ในพิธีแต่งงาน พิธีแสนเรือน และพิธีศพ ที่สำคัญคือ ทุกคนต้องมีเสื้อฮี เป็นสมบัติของตนเอง สำหรับคลุมหีบศพของตน
ชุดที่ใช้ประจำวัน เสื้อผู้ชายเรียกว่า เสื้อไห้ นิยมใช้กับกางเกงขาก๊วยสีดำ หรือสีครามเข้ม มีผ้าขาวม้าคาดเอว เสื้อของผู้หญิงเรียกว่า เสื้อก้อน เป็นเสื้อแขนยาวสีดำ และสวมผ้าซิ่นสีดำลายขาวเป็นทาง เมื่ออยู่บ้านผู้หญิงลาวโซ่งไม่นิยมสวมใส่เสื้อ แต่จะใช้ผ้าพันรัดหน้าอกแทนที่เรียกว่า ผ้าเปียว
การปลูกบ้านที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านใต้ถุนสูง ใช้เสาไม้ขนาดใหญ่ ตอนปลายด้านหัวเสาเป็นง่าม เพื่อรองรับรอดและตง พื้นบ้านนิยมใช้ไม้ไผ่สับปูพื้นที่เรียกว่า ฟาก หลังคาเป็นทรงโค้งและคลุมต่ำ ลักษณะคล้ายกระโจมมุงด้วยหญ้าคา ตัวบ้านจะแบ่งออกเป็นสี่ส่วน ส่วนแรกเรียกว่า ก๊กชาน เป็นส่วนหน้าบ้านมีบันไดขึ้นลักษณะเดียวกับชานบ้านไทยในชนบท ส่วนที่สองเรียกว่า ระเบียงบ้าน อยู่สูงกว่าระดับของก๊กชาน  ส่วนที่สามเรียกว่า หน้าห้องผี สำหรับใช้เป็นที่รับแขกและเป็นที่นอนของพ่อแม่ที่มีลูกสาว  ส่วนที่สี่เรียกว่า ห้องผี  ซึ่งโดยปกติคือ ห้องนอน  ชาวโซ่งมีความเชื่อมาแต่โบราณว่า ทุกบ้านจะเลี้ยงผีไว้ตรงมุมของห้องนอนจึงเรียกว่า ห้องผี  ส่วนกว้านจะมีเฉพาะบ้านของตระกูลท้าว ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีใหญ่และเป็นห้องนอนของลูกชายวัยหนุ่ม
– กลุ่มชนเผ่ากะเหรี่ยง  เป็นชนเผ่าที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากชายแดนประเทศพม่า เมื่อไม่นานมานี้คือประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๐ ส่วนใหญ่เข้ามาอยู่อาศัยในเขตพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ และตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน ทางราชการเรียกบริเวณที่อยู่อาศัยของชนเผ่ากะเหรี่ยงว่า ชุมชนพื้นที่สูง
ภาษา  อาจจำแนกการใช้ภาษาได้เป็นสามประเภทคือ
– ภาษาประจำถิ่น  เป็นภาษาไทยในพื้นที่ตั้งแต่อำเภอเมือง ฯ ถึงอำเภอหัวหิน มีสำเนียงการพูดคล้ายชาวเพชรบุรี ต่างกันที่หางเสียงที่ค่อนข้างนุ่มนวลกว่า หากเป็นการฟังอย่างเคยชิน จะพบความแตกต่างของสำเนียงทั้งสองดังกล่าว
– ภาษาปักษ์ใต้  เป็นภาษาพูดของคนส่วนใหญ่ในเขตอำเภอทางตอนใต้ของอำเภอเมือง ฯ ได้แก่ อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย ซึ่งเป็นอำเภอที่มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดในภาคใต้ นอกจากกนี้ยังมีชาวปักษ์ใต้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่อาศัยในเขตอำเภอดังกล่าวอยู่มาก ภาษาที่ใช้มีสองลักษณะคือ พูดภาษาใต้ด้วยสำเนียงปักษ์ใต้ หรือพูดภาษาไทยภาคกลางด้วยสำเนียงปักษ์ใต้
– ภาษาอื่น ๆ  เนื่องจากประชากรในเขตจังหวัดประจวบ ฯ เป็นคนไทยเชื้อสายต่าง ๆ รวมถึงชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาอยู่อาศัย จึงมีการใช้ภาษาของตนภายในกลุ่มของตน เช่น ภาษาจีน ภาษาอีสาน ภาษาลาวโซ่ง ภาษากะเหรี่ยง ฯลฯ
ศาสนา  การนับถือศาสนาของประชากรแบ่งออกได้เป็นสี่กลุ่มคือ
– ศาสนาพุทธ  มีพุทธศาสนิกชนอยู่ประมาณร้อยละ ๙๗.๓๕  มีวัดในพระพุทธศาสนาอยู่ ๑๘๖ วัด เฉลี่ย ๑ วัด ต่อพุทธศาสนิกชน ประมาณ ๒,๖๐๐ คน
– ศาสนาอิสลาม  มีชาวอิสลามอยู่ประมาณร้อยละ ๑.๓๓ มีมัสยิด ๑๐ แห่ง อยู่ในเขตอำเภอต่าง ๆ ยกเว้นอำเภอหัวหิน และอำเภอกุยบุรี เฉลี่ยมัสยิด ๑ แห่งต่อชาวอิสลาม ประมาณ ๖๓๐ คน
– ศาสนาคริสต์  มีชาวคริสต์ อยู่ประมาณร้อยละ ๑.๒๗ มีโบสถ์คริสต์อยู่ ๙ แห่ง เป็นโบสถ์ของนิกายโรมันคาธอลิก ๕ แห่ง และนิกายโปแตสแตนท์ ๔ แห่ง เฉลี่ยโบสถ์หนึ่งแห่งต่อชาวคริสต์ประมาณ ๖๗๐ คน
– ศาสนาอื่น ๆ  ได้แก่ศาสนาพราหมณ์ ฮินดู ซิกข์ และอื่น ๆ มีผู้นับถือจำนวนน้อย ประมาณร้อยละ ๐.๐๕

สาธารณูปโภค

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  มีความพร้อมด้านการประปา  ไฟฟ้า และระบบการสื่อสาร สามารถให้บริการได้ทั่วถึง และมีการพัฒนาให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

ด้านการคมนาคม

การคมนาคมของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีทั้งเส้นทางบกและทางอากาศ

ทางรถยนต์ มีถนนเพชรเกษมเป็นเส้นทางหลัก ถนนปรับจาก ๒ เลน เป็น ๔ เลน ตลอดเส้นทาง

ทางรถไฟ รถไฟสายใต้ทุกขบวน จะต้องผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีความสะดวก และปลอดภัย

ทางอากาศ  สนามบินบ่อฝ้าย จัดให้มีเครื่องบินของบริษัทบางกอกแอร์เวย์ จำกัด ทำการบินระหว่างกรุงเทพมหานคร-หัวหิน

บริการสาธารณสุข

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์   มีโรงพยาบาลประจำจังหวัดและโรงพยาบาลระดับอำเภอทุกอำเภอ   สถานีอนามัยครอบคลุมทุกตำบล  รับผิดชอบด้านการให้คำแนะนำ  รักษาพยาบาลป้องกัน  ส่งเสริมสุขภาพ  และฟื้นฟูสมรรถภาพ

อ้างอิง  http://lis1210.tripod.com/PKRT/praj02.htm

http://heritage.mod.go.th/nation/oldcity/prachuapkhirikhan1.htm

 

Thai Arabic Chinese (Traditional) English French German Indonesian Japanese Korean Vietnamese

เมนูสมาชิก




















เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

























QR Code
อบจ.ประจวบคีรีขันธ์

 





ลิขสิทธิ์ © 2562-2564 องค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.
องค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โทรศัพท์ 0-3260-2017 โทรสาร 0-3260-2016